“ไทยวา” ตั้งกองทุน “ไทยวาเวนเจอร์” ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจสตาร์ทอัป หรือธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และสามารถช่วยเสริมการเติบโตของธุรกิจหลักได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 4 ด้าน เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจให้เติบโต ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากไทยวาเวนเจอร์ 2 หลักภายใน 3-5 ปี
นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) (TWPC) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และผู้นำตลาดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและเส้นก๋วยเตี๋ยว เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งกองทุนไทยวาเวนเจอร์ แคปปิตอล (VC) ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป หรือธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และช่วยเสริมการเติบโตของธุรกิจหลักได้ ครอบคลุมทั้ง 4 ด้านที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นวัตกรรมด้านฟาร์มและเทคโนโลยีการเกษตร การวิเคราะห์ข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจในรูปแบบ B2B พลาสติกชีวภาพและการรีไซเคิลของเสียจากการผลิต และส่วนผสมในอาหารและเทคโนโลยีการแปรรูปแบบใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาของนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสร้างการเติบโตอย่างมีศักยภาพให้ธุรกิจในเครือของบริษัทฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากกว่าที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งงบลงทุนไว้ปีละ 1-2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป 2-3 ราย โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากไทยวาเวนเจอร์ตัวเลข 2 หลักของรายได้รวมภายใจ 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันรายได้หลัก 80% มาจากธุรกิจผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และอีก 20% มาจากธุรกิจอาหาร
“วิกฤตโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจทั่วโลก บริษัทฯ จึงมีแนวคิดขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและขับเคลื่อนการพัฒนาจากฟาร์มสู่ชั้นวาง (From Farm to Table) ให้ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศและภูมิภาคที่บริษัทฯ ดำธุรกิจอยู่ จึงได้จัดตั้งไทยวาเวนเจอร์ขึ้นมาเพื่อลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งเชื่อว่าโอกาสและรายได้ของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัปมีความเป็นไปได้สูงมาก ด้วยปัจจุบันไทยวาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านผลิตภัณฑ์แป้งและอาหารจากแป้ง มีธุรกิจครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสามารถและศักยภาพที่จะร่วมมือกับบรรดาสตาร์ทอัปที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในทุกมิติ” นายโฮ เรน ฮวา กล่าว
โดยบทบาทของบริษัทฯ คือการนำเอาความเชี่ยวชาญกว่า 75 ปี ด้านการทำการเกษตรที่หลากหลายมาพัฒนาเป็นโซลูชันด้านอาหารที่แตกต่าง หรือการประยุกต์และพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดตลาดและนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ นำมาปรับใช้กับองค์กร รวมถึงการเตรียมตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการศักยภาพเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอนาคตด้วย