ในช่วงที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากหันไปกู้เงินนอกระบบ เนื่องจากนายทุนปล่อยกู้ง่าย แม้ดอกเบี้ยจะสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด แม้ในระยะแรกๆ จะจ่ายรายวันคืนเจ้าหนี้ได้ แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมาอาจขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินจ่ายเจ้าหนี้ โดยเฉพาะบางส่วนส่งหนี้ไปเกือบครึ่งทางแต่เงินก็แทบจะไม่ได้ตัดต้นเลยก็มี
ทั้งนี้ ภาครัฐ ได้ช่วยกันหาทางออกให้กับประชาชนด้วยการนำหนี้นอกระบบกลับสู่ระบบ ด้วยการให้ธนาคารที่เป็นของรัฐปล่อยกู้กับให้ประชาชน แต่ก็พบว่า ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าระบบได้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้แนะ 3 วิธีที่พอจะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ดังนี้
1. หาเงินมาปิดหนี้
เริ่มต้นด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง หารายได้เพิ่ม รวมถึงรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ว่ามีอะไรที่น่าจะมีคนสนใจซื้อและขายออกไปได้บ้าง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้
2. หาแหล่งเงินกู้ในระบบ
โดยลูกหนี้นอกระบบสามารถสอบถามธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบออกมาเป็นระยะๆ รวมไปถึงการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน (เช่น บ้านหรือทะเบียนรถ)
สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสิน
วัตถุประสงค์ในการกู้ : เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดจากการประกอบอาชีพ หรือการอุปโภคบริโภค แต่ต้องไม่เป็นการนำไปชำระรีไฟแนนซ์ (Re-Finance) หนี้ในระบบ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ต้องนำเงินที่ได้มานั้นไปจ่ายเจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน
วงเงินกู้ : ให้กู้ตามจำนวนหนี้นอกระบบจริง และดูตามความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะให้กู้เงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท
อัตราดอกเบี้ย : ดอกเบี้ยคงที่ หรือ Flat Rate ร้อยละ 1 ต่อเดือน
ระยะเวลาการชำระ : ไม่เกิน 5 ปี
ค่าธรรมเนียม : 100 บาท ต่อสัญญา
คุณสมบัติผู้สมัคร มีดังนี้
- เป็นผู้ที่มีการประกอบอาชีพ มีรายได้
- สัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อรวมอายุของผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 65 ปี
- มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพ สามารถติดต่อได้
- เป็นผู้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ (นร.1) สามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ขอกู้จากธนาคาร
หลักประกันเงินกู้ : ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน
เอกสารประกอบการขอกู้ มีดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน
- เอกสารแสดงรายได้ในการประกอบอาชีพ สมุดบัญชีเงินฝาก สลิปเงินเดือน (ถ้ามี)
- เอกสารรายรับ/รายจ่าย (ถ้ามี)
- รูปถ่ายสถานที่ประกอบอาชีพ
- กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นำสำเนาหลักทรัพย์ที่จะค้ำประกันไปด้วย
สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และสินเชื่อพิโกพลัส
สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ คือ สินเชื่อในระบบเพื่อรายย่อยในท้องถิ่น ซึ่งแนวคิดนี้กระทรวงการคลังได้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการกู้ยืมนอกระบบ โดยผู้ที่ปล่อยเงินกู้นั้นจะต้องมใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเท่านั้น (ดูรายชื่อ บริษัทที่ปล่อยพิโกไฟแนนซ์ ได้ ที่นี่)
วงเงินกู้พิโกไฟแนนซ์ : ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย
วงเงินกู้พิโกพลัส : ไม่เกิน 100,000 บาท
ดอกเบี้ย : พิโกไฟแนนซ์ ไม่เกิน 36% ต่อปี
พิโกพลัส แยกสัญญากู้เงินเป็น 2 สัญญา
- เงินกู้ 50,000 บาทแรก ไม่เกิน 36% ต่อปี
- เงินกู้ที่เกินกว่า 50,000 บาท ไม่เกิน 28% ต่อปี
คุณสมบัติผู้กู้ : เป็นบุคคลธรรมดา มีทะเบียนบ้านหรือถิ่นที่อยู่ ทำงาน หรือ พักอาศัย ภายในจังหวัด และมีความสามารถในการชำระหนี้
หลักประกัน : อาจมีหรือไม่มีหลักประกันการกู้ยืม แล้วแต่ผู้ให้กู้จะกำหนด
3. หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
ลูกหนี้ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้น้อย จะมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัดช่วยฝึกอบรมอาชีพ ฝีมือแรงงาน และให้ความรู้ทางการเงิน
นอกจากนี้ ลูกหนี้นอกระบบสามารถขอคำปรึกษา และร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการดังต่อไปนี้
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359
- ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร. 1567
- ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 0 2575 3344
https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/2044923