การฝังเข็มในสัตว์เลี้ยงนอกจากในประเทศจีนแล้ว ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงมีการศึกษาในศาสตร์แขนงนี้กันมากขึ้น จนเป็นที่ประจักษ์ต่อคนในวงการสัตว์เลี้ยง ส่วนในประเทศไทยการฝังเข็มในสัตว์เลี้ยง ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น หากย้อนไปประมาณ 10 ปีก่อน น่าจะมีสัตวแพทย์ที่ทำการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มอยู่จำนวนน้อยมาก ประมาณ 4-5 ท่าน แต่ในปัจจุบันก็มีสัตวแพทย์ที่สนใจ ทำการศึกษา และให้บริการด้านการฝังเข็มมากขึ้น เกินกว่า 20 ท่าน กระจายไปตามโรงพยาบาลสัตว์ต่าง ๆ
หลายคนอาจสงสัยว่า การฝังเข็มช่วยในการรักษาได้อย่างไร ตามหลักการแพทย์แผนจีนจะเน้นการปรับสมดุลของร่างกายเป็นหลัก เนื่องจากตามตำราแพทย์แผนจีนเชื่อว่าการที่เรามีโรคเกิดขึ้น เกิดจากความไม่สมดุลของร่างกาย หรือร่างกายมีการติดขัดของเลือด หรือลมปราณ ทำให้ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนเกิดเป็นโรคต่าง ๆ ขึ้นมา ดังนั้นการแพทย์แผนจีนจึงเน้นการปรับสมดุล ให้ทุกอย่างมันเข้าที่เข้าทางของมัน แล้วร่างกายเราจะหายจากโรคเอง ในการฝังเข็มจะทำการรักษาโดยการใช้เข็มขนาดเล็ก ฝังลงไปในจุดที่เฉพาะเจาะจง คือจุดฝังเข็มต่าง ๆ บนร่างกาย โดยทิ้งเข็มไว้เพื่อให้มีการกระตุ้นและปรับสมดุลของร่างกาย เป็นระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ 30 นาที แล้วจึงถอนเข็มออก นอกจากการฝังเข็มแล้ว ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนยังมีการรักษาด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การใช้ยาสมุนไพรจีน การปรับอาหารที่เรากิน การนวดกดจุดตามหลักการแพทย์แผนจีน หรือที่เรียกว่า ทุย-หน่า (Tui-na) เป็นต้น
การฝังเข็มในสัตว์ ค่อนข้างปลอดภัย หากได้รับการรักษาโดยสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือจบหลักสูตรการฝังเข็มมาโดยตรง ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย อาจจะมียกเว้นบางกรณี เช่น สัตว์ป่วยมีเนื้องอก หรือมะเร็งที่ผิวหนัง สัตว์ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ทางสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีการอธิบาย และแนะนำต่อการรักษาเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อตัวสัตว์ป่วยเอง
โรคที่สามารถบรรเทาอาการ หรือรักษาได้ด้วยวิธีการฝังเข็ม ได้แก่
1. กลุ่มอาการปวด และโรคทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดเข่า
2. กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ขาหลังอ่อนแรง โรคอัมพาตใบหน้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หวัดเรื้อรัง และ
4. กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น ท้องผูก
การฝังเข็มในสัตว์สำหรับในประเทศไทยนั้น จากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่า ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากตัวสัตวแพทย์เอง คือ เห็นได้จากจำนวนสัตวแพทย์ในประเทศที่สนใจ หรือมีการศึกษาทางด้านแพทย์แผนจีนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนสัตวแพทย์ และสถานพยาบาลสัตว์ต่าง ๆ ที่มีให้บริการฝังเข็มมากขึ้นส่วนการยอมรับของเจ้าของสัตว์ป่วยก็มีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมได้ปฏิบัติงานประจำ ซึ่งเปิดให้บริการด้านฝังเข็มมากว่า 7 ปี ก็มีจำนวนสัตว์ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้วยการฝังเข็มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ อย่างเช่น ในปี พ.ศ.2563 ก็มีสัตว์ป่วยที่เข้ารับการฝังเข็มมากกว่า 500 ราย
ในการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มในสัตว์ จะทำการฝังเข็มลงบนตัวสัตว์ โดยจำนวนเข็มที่ใช้ จะขึ้นอยู่กับอาการของโรคที่เป็นอยู่ และทำการรักษาเป็นเวลาประมาณ 30 นาที ต่อการรักษา 1 ครั้ง โดยทำการรักษา 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในการฝังเข็มอาจมีการกระตุ้นไฟฟ้าไปที่เข็มด้วย ซึ่งจะทำให้การรักษาด้านระบบประสาท หรือการแก้ปวด มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้หายจากอาการได้เร็วขึ้นด้วย หากท่านใดมีความประสงค์ให้สัตว์เลี้ยงของท่านได้รับการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน หรือการฝังเข็ม สามารถลองสอบถามสถานพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านที่มีให้บริการด้านการฝังเข็มดู เพื่อให้สัตวแพทย์ได้แนะนำ หรืออธิบายถึงการรักษาต่อไปได้.
ข้อมูลจาก นสพ.สุทธิโชค กุลตรัยลักษณ์
คลินิกเวชศาสตร์ทางเลือก (ฝังเข็ม)
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.dailynews.co.th/article/837494