เงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.185 บาทต่อดอลลาร์

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

เงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” มองแนวต้านอาจอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ จะอยู่ในช่วง 33.10 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.185 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ค่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนไปตาม sentiments ของตลาดการเงิน โดยหากตลาดการเงินสามารถทยอยเปิดรับความเสี่ยงได้ (Risk-On) ก็จะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลงและอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเฝ้าระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่หากบานปลายสู่สงครามก็อาจกดดันตลาดการเงินให้กลับมาปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้และกดดันค่าเงินบาท อนึ่ง ค่าเงินบาทอาจได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบ้าง หลังจากที่ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาและทรงตัวใกล้แนวต้านสำคัญ

ในระยะสั้น หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เราคงมองว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถแข็งค่าไปได้มากจนหลุดแนวรับเชิงจิตวิทยาแถว 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์การระบาดโอมิครอนคลี่คลายลง จนรัฐบาลประกาศพร้อมเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาคึกคักมากขึ้นได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ แนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ จะอยู่ในช่วง 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าจะรอซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวมากขึ้น

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.25 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อาทิ Amazon, AMD, Meta (Facebook) ออกมาดีกว่าคาด ก็จะสามารถช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงเดินหน้า Buy on Dip หุ้นกลุ่ม Tech และ หุ้นสไตล์ Growth ที่มีปรับฐานหนักในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ James Bullard ที่ระบุว่า เฟดอาจทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้งตามที่ตลาดคาด แต่เฟดจะไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้งถึง 0.50% เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% ในแต่ละคงอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

แรงซื้อ Buy on Dip หุ้นในกลุ่ม Tech ยังคงช่วยหนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมาพุ่งขึ้นกว่า +0.75% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น +0.69% ส่วนดัชนี Dowjones ก็ปรับตัวขึ้นราว +0.78% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูงจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่ยังคงสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิต ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อราว +1.19% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อาทิ Airbus +3.0%, Kering +2.4%, Santander +2.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่อเนื่อง อาทิ SAP +2.4%, Adyen +1.9%

อนึ่ง ในระยะสั้น นักลงทุนควรระมัดระวังปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามและอาจกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดหุ้นยุโรปมีการปรับฐานลงมาต่อ ก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าสะสมการลงทุนในยุโรปเพื่อรอลุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการระบาดโอมิครอนมีสัญญาณว่าจะเริ่มสงบลงได้

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways และปรับตัวขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 1.78% ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง บอนด์ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวย่อตัวลงได้ หากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่สงคราม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่ทำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 96.38 จุด นอกจากนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่กลับมาอ่อนค่าลง ได้หนุนให้ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เราคงมองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรมากขึ้น

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ว่าจะมีมุมมองต่อแนวโน้มตลาดน้ำมันอย่างไร รวมถึงกลุ่ม OPEC+ จะมติในการเพิ่มกำลังการผลิตมากน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อวันหรือไม่ ซึ่งหากกลุ่ม OPEC+ ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตตามที่ตลาดคาดไว้ หรือ ตามที่กลุ่ม OPEC+ เคยวางแผนไว้ ก็จะไม่ได้กดดันราคาน้ำมัน เนื่องจากตลาดได้รับรู้ถึงการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตแล้วและคาดว่ากำลังการผลิตอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าความต้องการใช้พลังงาน หลังหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโอมิครอน

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯใหญ่ อย่าง Amazon, Meta (Facebook) รวมถึง AMD เป็นต้น ซึ่งเราคาดว่า รายงานผลประกอบการจะมีผลต่อตลาดการเงินมากขึ้น โดยหากผลประกอบการสามารถขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุง sentiment ของตลาดได้บ้าง แต่โดยรวมตลาดอาจยังคงผันผวนเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market